หนึ่งในอาณาจักรโบราณซึ่งเคยเรืองอำนาจในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่อื่นๆในภาคกลางของประเทศไทยเมื่อกว่าพันปีก่อนหรือในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรที่เชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครปฐม อาณาจักรนี้มีชื่อว่า ทวารวดี หรือโถโลโปตี้ ตามบันทึกของภิกษุจีนจิ้นฮง ร่องรอยประวัติศาสตร์ยุคทวารวดีที่เราจะพาไปดูในวันนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างมีต้นไม้ปกคลุมมาเป็นเวลานานร้อยปีจนสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑ ราชบุรี กรมศิลปากรได้มีการการบูรณะ ขุด ปรับแต่งโบราณและสถานแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โบราณสถานแห่งนี้มีชื่อว่า ” โบราณสถานทวารวดีโคกเศรษฐี หรือ ทุ่งเศรษฐี พร้อมแล้วไปกันเลย
สถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐี
เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาแบบนิกายมหายานตั้งอยู่เชิงเขาจอมปราสาท เทือกเขานางพันธุรัตน์หรือเทือกเขาเจ้าลายใหญ่ ปัจจุบันคือบ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งบริเวณโดยรอบยังมีกลุ่มเขาหินปูนขนาดเล็กอื่นๆเช่นเขานายาง ( สถานที่ชมค้างคาวนายาง ) เขาตาจีน เขาตาขวางอยู่ห่างจากชายหาดชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลโบราณในสมัยทวารดี มีการเชื่อมโยงกับชุมชนโบราณอื่นๆ
การขุดพบซากฐานเจดีย์ก่ออิฐสอดินขนาด 25 x 25 เมตร สูงราว 5 เมตรประกอบด้วย ฐานประทักษิณซึ่งมีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก รองรับฐานเจดีย์ที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จบริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ชั้นล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนกันสองชั้น รองรับฐานบัววลัย มีส่วนของท้องไม้ขยายสูง มีลวดบัวตรงกึ่งกลางจำนวน ๓ แนว แถวบนและล่างก่อเรียบ ส่วนแถวกลางก่ออิฐยื่นสลับกันบริเวณที่อิฐนูนขึ้นมาฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบ ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานมีการประดับเสาติดผนังและแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เพื่อประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระแบก เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐมีเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายส่วนแรก แต่มีขนาดความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากผนังส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์ซึ่งมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบหมด จากหลักฐานชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่พบ สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงสัณฐานขององค์เจดีย์ทุ่งเศรษฐีส่วนบนน่าจะเป็นทรงกลมมีเจดีย์บริวารทรงกลมขนาดเล็กที่มุมทั้งสี่ บริเวณส่วนยอดเป็นปล้องไฉนประดับด้วยอมลกะ ( ข้อมูลกรมศิลปากร )
จากการสันนิษฐานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม อดีตอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พบว่าสถูปเจดีย์ทุ่งเศรษฐีมีลักษณะเป็นทรงหม้อน้ำคล้ายกับเจดีย์จุลประโทนในจังหวัดนครปฐม
หมายเหตุ : อาณาจักรทวารวดี หรือโถโลโปตี้ ตามบันทึกของภิกษุจีนจิ้นฮงอยู่ช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ( พ.ศ. 1101-1500 ) ก่อนสมัยสุโขทัย
โบราณวัตถุโคกเศรษฐี
ในระหว่างการขุดปรับแต่งโบราณสถานแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ค้นพบโบราณวัตถุสมัยทวารดีมากมายหลายชิ้นด้วยกันได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์ ปูนปั้นรูปบุคคลชั้นสูง บุคคลสามัญ คนแคระ พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก ลูกปัดหิน เปลือกหอยเป็นต้น ปัจจุบันโบราณวัตถุบางส่วนถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี
จะเห็นได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้เคยเป็นชุมชนโบราณชายฝั่งทะเล มีการทำเกษตรกรรม มีการค้าขายแลกเปลี่ยน เป็นแหล่งที่พักของพ่อค้า นักเดินเรือ โดยเฉพาะนักเดินเรือจากจีน มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา มีสถูปเจดีย์เป็นที่ประกอบพิธีกรรมและยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกด้วย
ข้อมูลติดต่อ
032 471 005
Google Map
โบราณสถานโคกเศรษฐีเป็นโบราณคดีสมัยทวารดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ๆหัวหินแค่นิดเดียว ไว้ทริปหน้าเราจะพาไปเที่ยวที่ไหนอย่าลืมติดตามกันหน่าาา หรือหากเพื่อนๆมีที่ไหนถูกใจอยากแนะนำ แวะมาทักทายกันในเพจ HuaHin Town ได้เลยนะค้า แล้วพบกันนะ