“บ้านศิลปินหัวหิน” เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายท่านน่าจะเคยได้ยินชื่อหรือเคยแวะไปเที่ยวมาบ้างแล้ว บรรยากาศของพื้นที่ที่มีศิลปินหลายท่านใช้เวลาแทบจะตลอดทั้งวันในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ผ่านผืนผ้าใบและพื้นที่อื่นๆตามที่ตัวเองถนัด วันนี้พวกเราหัวหินทาวน์มีโอกาสได้คุยกับคุณ “ตุ๊บตั๊บ” ทายาทของบ้านศิลปินหัวหิน ผู้ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้ยังคงมีความสดใหม่และร่วมสมัยอยู่สมัย
คุณตุ๊บตั๊บเป็นใคร มีประสบการณ์และผลงานอะไร งานศิลปะกำลังพัฒนาไปทางไหน หาคำตอบพร้อมกันผ่านบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย
แนะนำตัวตุ๊บตั๊บ งานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
“ตุ๊บตั๊บ-กฤษฏิ์ เกษางาม” ทายาทบ้านศิลปิน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังว่า ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่บ้าน เคยฝากผลงานของตัวเองไว้ในเพจเฟสบุ๊คมาก่อน โดยใช้ชื่อว่า “Moka” เริ่มมาจากการที่ทำภาพประกอบ จุดเริ่มต้นเกิดจาก เราเป็นคนชอบความสวยงาม และรายละเอียดองค์ประกอบของดอกไม้ ต้นไม้ แมลง และสิ่งธรรมชาติต่าง ๆ มาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ประจวบเหมาะกับตอนช่วงโควิดมาช่วงแรก ๆ บ้านศิลปินปิดไปประมาณ 2-3 เดือนช่วงนั้นเลยมีเวลาว่างเราก็เลยใช้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ค้นหาตัวเอง ผมก็เลยมานั่งวาดรูป เผอิญมีกลุ่มใน Faceboook เกี่ยวกับแชร์ผลงานภาพประกอบ เราก็ลองโพสต์ผลงานที่เราทำในนั้น ปรากฏว่ามีคนชมผลงานของเราเยอะมาก ยอดแชร์สูง เราก็เลยตัดสินใจทำเพจขึ้นมา พอดีมีวงดนตรีเร็กเก้ที่เราชอบชื่อ Mocca Garden เราก็คิดว่าชื่อเพราะดี ประกอบกับที่เราชอบดื่ม ชอบทำกาแฟ ก็เลยได้มาจบที่ชื่อ “Moka” ที่สามารถสื่อเป็นนัย ๆ ถึง Moka pot ได้ด้วย ใส่ “.” เข้าไปหน่อย แล้วก็เติมคำว่า “Garden” ที่มาจาก Concept ตอนวาดรูปสไตล์ Botanical ช่วงนั้นที่เราชอบพอดี เลยเป็นที่มาของชื่อ “Moka.garden” นับว่าเป็นเฟสแรกในการเริ่มค้นหาตัวเอง และหาแพชชั่นของตัวเองครับ


พอทำไปเรื่อย ๆ เริ่มมีคนติดตามผลงานเรามากขึ้นจนเริ่มมีคนติดต่อมาอยากเอาผลงานเราไปเป็นภาพประกอบในเชิงพาณิชย์ประกอบแบรนด์ เราเลยลองเริ่มรับงานดูพอทำเสร็จเราก็แชร์ผลงานเหมือนเดิมแบบทุกครั้งพอหลายคนรู้ว่าเราสามารถทำงานออกแบบโลโก้ออกแบบอัตลักษณ์องค์กรได้ ลูกค้าก็เริ่มติดต่อเข้ามาเยอะขึ้น ทำไปสักพักเริ่มรู้สึกว่าลูกค้าแต่ละคนก็มี Brand Position และ Personal Branding ที่ไม่เหมือนกัน
เราจึงไม่สามารถเอางานภาพประกอบสไตล์ Moka.garden ไปใส่ในธุรกิจของทุกคนได้ เลยจำเป็นต้องเริ่มคิดวิเคราะห์ใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ
จาก Moka.Garden ที่เป็นผลงานสไตล์ส่วนตัวเลยจำเป็นที่ต้องขยับมาเฟสที่สองเป็น Moka.Creative ที่เอาไว้สำหรับรับงานออกแบบแบรนดิ้งและคอนเทนต์โดยเฉพาะ และ มี Moka.Cafe & Space เป็นร้านกาแฟที่เป็นพื้นที่สื่อกลางสำหรับคุยงานกับลูกค้า คนก็เลยรู้จักเราว่า “ตุ๊บตั๊บ” เป็น นักออกแบบ นักวาดภาพประกอบอิสระ และ ทำธุรกิจร้านกาแฟที่ บ้านศิลปินหัวหินในนาม Moka. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เบื้องหลัง ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจในการเปิดออฟฟิศ ด้านการออกแบบ
ผมมองว่ามันเป็นความโชคดีของเราที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุณพ่อคุณแม่เป็นศิลปินและทำบ้านศิลปินขึ้นกว่า 23 ปีแล้วครับ เอาจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่แทบจะไม่ได้สอนเกี่ยวกับด้านศิลปะเลยแต่ส่วนใหญ่จะปล่อยให้เราลองทำทุกอย่างเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้โอกาส สนับสนุนเรา ให้เราลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ในทุก ๆ ด้าน ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นความโชคดีที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีแบบนี้ด้วย
จริง ๆ ผมรู้จักคำว่า “นิเทศศิลป์” เพราะได้มีโอกาสได้ไปชมงาน Street Art ของพี่ตั้ม MAMAFAKA เป็นครั้งแรก ตอนนั้นเราเห็นผลงานแล้วรู้สึกว่าทำไมงานเขาดูสวยดูสนุกแปลกตา จากงานศิลปะที่เราเคยเห็น เราเลยค้นหาและอ่านประวัติของพี่ตั้ม MAMAFAKA ว่าพี่ตั้มเรียนจบคณะอะไรประกอบอาชีพแบบนี้เรียกว่าอะไรก็เลยทำให้ได้รู้จักคำว่านิเทศศิลป์ตั้งแต่ตอนนั้นครับ พี่ตั้มก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผมตั้งใจติวตั้งแต่ ป.3 เลย จนสอบตรงติดที่คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมก็เลยรู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นครับ
พอเข้าไปเรียนมันก็มีหลายแขนงเราก็ตั้งใจทำเต็มที่ทุกวิชาปรากฏว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องวาดรูป หรือภาพประกอบอย่างเดียวแล้ว มีอีกหลายศาสตร์ให้ลงลึกอีกเยอะมาก เช่นครีเอทีฟโฆษณา การกำกับศิลป์ วิเคราะห์แบรนดิ้ง สารคดี กราฟิกดีไซน์ เราก็คิดว่าจะไปสายภาพประกอบดีไหม เราทำได้ แต่พอใช้เวลานาน ๆ เข้าเรารู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยตอบโจทย์ตัวเอง ประกอบกับเราเป็นคนชอบอะไรที่หลากหลาย ไม่ได้ชอบทำแค่อย่างเดียว ตอนทำธีสิสก็เลยมาจบที่การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร หรือ การสร้างแบรนดิ้ง เพราะได้ทำทุกอย่างเลยตั้งแต่ออกแบบระบบแบรนด์ ออกแบบโลโก้ วิเคราะห์คอนเซ็ปต์ จะทำโฆษณาหรือสารคดีก็ยังได้ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจทำหัวข้อ การออกแบบแบรนด์เกี่ยวกับ ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกเกี่ยวกับ “อ.หัวหิน” ที่สอดแทรกให้ข้อมูลและเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนได้รู้จักมากยิ่งขึ้นครับ
งานออกแบบช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ ได้ยังไง และเพิ่มในมิติไหนบ้าง
หากเปรียบเทียบกับยุคที่ผ่านมาคนยังไม่ค่อยรู้จัก อาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากนัก คนอาจจะเข้าใจว่าแบรนดิ้งคือโลโก้เท่านั้นเลย แต่พอมาเป็นยุคนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น ตัวเราเองที่ทำงานเกี่ยวกับแบรนดิ้งมาเยอะพอสมควรก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าจริง ๆ แล้วแบรนดิ้งนั้นคือ องค์รวม ภาพรวม ทั้งภายในและภายนอก โลโก้เป็นเพียงแค่พาร์ทหนึ่งของหน้าตาเท่านั้น แต่แบรนดิ้งคือ บุคลิกภาพ นิสัย ท่าทาง น้ำเสียงที่สื่อสารออกไปจนเกิดภาพจำในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวคิดว่าตลาดธุรกิจต่าง ๆ ในหัวหินก็เริ่มมีการตื่นตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เริ่มมีการแข่งขันกันในแง่เชิงคุณภาพบางธุรกิจที่อยู่มานานก็อยากทำให้จริงจังเป็นระบบระเบีบบมากยิ่งขึ้นคนก็เลยให้ความสำคัญกับการสร้าง Personal Branding ในส่วนของตัวธุรกิจมากขึ้นครับ
นอกจากทำให้ภาพลักษณ์ชัดเจนขึ้นแล้ว Branding ก็ยังช่วยเรื่องการสื่อสารออกไปว่าตัวแบรนด์หรือธุรกิจของคุณต้องการสื่อออกไปในน้ำเสียงไหนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นยิ่ง
ถ้าหากสินค้าหรือบริการคุณดีมีคุณภาพและมีความแตกต่างก็จะทำให้คุณทำงานง่ายขึ้นถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วยิ่งขึ้นการวางระบบ“แบรนดิ้ง”ก็จะช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือและน่าจดจำจนประสบความสำเร็จทำให้ลูกค้ายินดีจ่ายเพราะเชื่อในตัวแบรนด์แล้วกลับมาซื้อซ้ำ อีกคำถามสำคัญในการทำธุรกิจคือจะทำยังไงให้ธุรกิจสามารถพุ่งตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนแม่นยำและสร้างความประทับใจให้กลุ่มลูกค้านั้น ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าให้ใช้งานออกแบบ เพื่อพัฒนาเมืองหัวหินให้น่าสนใจ อยากพัฒนาในส่วนไหนบ้าง
ด้วยความที่เมืองหัวหินเป็นเมืองท่องเที่ยว ถ้าเป็นผมจะนำ Pain Point หลักขึ้นมาวิเคราะห์ก่อนว่าในมุมมองของนักท่องเที่ยวส่วนมากยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตรงไหนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลด้านประวัติความเป็นมา ด้านอาหารกิน ด้านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือบางจุดที่คนหัวหินรู้อย่างเดียวแต่นักท่องเที่ยวไม่รู้ ด้วยความที่หัวหินเป็นเมืองใหม่ ไม่ได้มี Iconic หรือ Landmark ที่ชัดเจนยิ่งใหญ่จนเป็นจุดขาย ผมมองว่าจริง ๆ แล้วเสน่ห์ของเมืองหัวหินคือองค์รวมที่ผสมกันหลากหลาย ทั้งในแง่วิถีชิวิตของคนท้องถิ่น และภาคธุรกิจใหม่ ๆ ที่เข้ามาลงทุน เรามีทั้งชุมชนย่านบ่อนไก่ มีสถานีรถไฟ ตลาดกลางคืน เขาหินเหล็กไฟ ชายหาด ห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ กับอีกหลาย ๆ โรงแรมแทบจะเกือบทุกเกรด
ถ้าในแง่การออกแบบที่จะช่วยพัฒนาตัวเมือง ผมเลยคิดว่าอยากหยิบยกเรื่องกิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ มาสื่อสารใหม่ ออกแบบย้ำให้สิ่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์และทำให้มีความรู้สึก น่ารัก น่าอยู่ เป็นกันเองมากยิ่งขึ้น เช่น ต้นมะพร้าวเอียงที่หาดหัวหิน หรืออาหารพื้นบ้านเก่าแก่ ผมมองว่ามันน่ารักดี สามารถหยิบยก มาเป็น Iconic ของภาพรวมหัวหินให้ดู น่ารัก น่าอยู่ เป็นมิตรมากขึ้นได้ครับ
ทุกวันนี้ผมก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ ผมมองว่าหัวหินต้องการแรงขับเคลื่อนแบบภาพรวมทั้งหมดถึงจะเป็นผลดีต่อทุกภาคส่วน ทุกวันนี้งานที่ออกแบบและให้คำปรึกษากับลูกค้าอีกหลาย ๆ รายในหัวหินเราเองก็มองว่าเป็นอีกแรงที่ได้ช่วยช่วยผลักดันเมืองหัวหินในทางอ้อมให้แต่ละธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีเอกลักษณ์จุดเด่นและประสบความสำเร็จแบบที่ตั้งไว้มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
คุณค่าของงานออกแบบเปลี่ยนไปไหม ในโลกที่ AI เข้ามาแทรกแซง
ผมมองว่ามันเหมาะสมแตกต่างกัน AI อาจจะเหมาะกับธุรกิจ SME หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจเพราะไม่ต้องใช้ทุนสูงในการเริ่มต้นเพียงแค่ศึกษาวิธีการด้วยตนเอง วางแผนสักหน่อยแล้วก็สามารถใช้ AI ช่วยในการออกแบบเริ่มต้นธุรกิจได้เลย ในส่วนที่ผมทำอยู่นั้นหรือวงการออกแบบปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบขนาดนั้น เพราะยังมีกลุ่มลูกค้าหรือหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของงานทำงานฝีมือและยอมจ่ายเพิ่มให้เราได้เป็นที่ปรึกษาช่วยจัดการการวางระบบและออกแบบสิ่งต่าง ๆ อยู่
เราเลยมองว่า AI ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรามากที่จริงเป็นประโยชน์กับวงการด้วยซ้ำเพราะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประหยัดเวลาขึ้นในการทำงานเลยทีเดียวครับ
อนาคตของศิลปินไทยมีโอกาสเติบโตแค่ไหน เราอยู่ระดับไหนถ้าเทียบกับทั่วโลก
ในมุมมองตั๊บมองว่าสมัยนี้ทุกคนสามารถสร้าง Personal Branding ได้ง่ายและไวมาก ทุกคนสามารถมีอินสตราแกรมได้ สามารถทำเพจ Moka.garden ขึ้นมาได้ ทุกคนสามารถเริ่มสร้างขึ้นมาได้ทันที นั่นหมายความว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น ศิลปินหน้าใหม่จะมีเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ การแข่งขันในแง่คุณภาพจะมากขึ้นเช่นกัน การจับตลาดว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนนั้นก็สำคัญมากในสมัยนี้เพื่อให้ผลงานของเราได้มีประสิทธิภาพและอยู่ถูกที่ถูกทาง
ทุกวันนี้ก็ถือว่าวงการเราเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศ แต่ยังกระจุกอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ยังไม่ได้กระจายการเข้าถึงมากเท่าที่ควรเท่าไหร่ ส่วนกลุ่มผู้เสพงานเองก็กว้างไปเรื่อย ๆ มีตลาดเฉพาะให้เลือกชมให้เลือกชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับศิลปินไทยเองทุกวันนี้ส่วนตัวคิดว่าโอกาสนั้นมีอยู่ตลอดแต่ต้องหาพื้นที่ว่าเราชอบตรงไหน จะไปยืนจุดไหน ถ้าเรามีแบรนดิ้ง มีกลุ่มเป้าหมาย มีตลาดที่ต้องการชัดเจน และเราสามารถเข้าไปยืนตรงนั้นได้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตได้ไวครับ
ข้อแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากทำงานด้าน Creative
อย่างแรกเลยคือช่วงแรกต้องลองลงมือทำก่อนลองให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้
ลองดูว่าตัวเองชอบแบบไหนหรือไม่ชอบแบบไหน แล้วลองคัดมาว่าอันที่เราชอบมีอันไหนที่ทำได้ดีบ้าง แล้วลองหาช่องทางต่อว่าสิ่งที่ชอบเราสามารถทำเงินได้อย่างไร
หากมองในแง่ธุรกิจจะทำยังไงแพชชั่นของเราสามารถไปคลิกกับคนกลุ่มไหนได้บ้างเพื่อจะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขของตัวเองกับสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย ถ้าเราอยากเอาแพชชั่นมาทำเป็นงานต้องวางแผนเพื่อให้สอดคล้องกันครับ
สรุปส่งท้าย ฝากร้าน ฝากผลงาน
ปัจจุบันตั๊บเองมีร้านกาแฟชื่อ “Moka.cafe & space” ที่ทุกคนสามารถเข้ามานั่งพักผ่อน หรือนั่งทำงาน คุยงานกันได้ครับ และอีกพาร์ทผมก็เป็น Freelance Designer ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างระบบและการออกแบบแบรนดิ้งหากมีคนสนใจก็ลองติดต่อเข้ามาได้ผ่านเพจ Moka.Creative.Studio ได้เลยครับ ส่วนเร็ว ๆ นี้อีกส่วนคือดูแลธุรกิจที่บ้าน คือ “บ้านศิลปิน” ที่ทุกวันนี้ก็เริ่มเข้ามาบริหาร ทำการตลาดใหม่ ๆ และคอยดูแลภาพลักษณ์โดยรวม ใครยังไม่เคยเข้ามาเที่ยวก็สามารถเข้ามาเที่ยวชมกันได้นะครับ