วันนี้เราอยู่กันที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน บนพื้นที่กว่าร้อยไร่ที่ “ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน” ตั้งใจสร้างเป็นโรงเรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ การศึกษาภาคสามัญที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งศิลปะและความสร้างสรรค์ ประสบการณ์งานแสดงหลายสิบปีที่ส่งครูเล็กขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ กำลังถูกกรั่นกรองและถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่นี่ทุกคน เรื่องราวของครูเล็กเป็นยังไง ชีวิตที่ยังไม่ยอมเกษียณนั้นสนุกแค่ไหน ไปติดตามผ่านบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย
แนะนำตัวครูเล็ก ภัทราวดี ปัจจุบันยังรับหน้าที่อะไรอยู่บ้าง
ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธนนะคะ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน และเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ วรรณคดีไทย ปรัชญา ทักษะชีวิตและกิจกรรมค่ะ ถ้าในเรื่องของงานแสดง เมื่อช่วงโควิดเราเคยทำ “เสน่ห์รอยรั่ว” เป็นโปรเจกต์เล็ก ๆ ถ่ายทำที่โรงเรียน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกัน เรียนรู้ธุรกิจอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ซึ่งปีหน้าเราก็กำลังจะมีโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น เด็ก ๆ ก็จะได้หยิบ ๆ จับ ๆ ได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีก ได้ศึกษางาน ทั้งยังครอบคลุมการสอนของที่นี่ด้วย
ชีวิตในวัยเด็ก หัวหินในความทรงจำของครูเล็กเป็นยังไง
เนื่องด้วยคุณแม่ (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) เป็นข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 6 ท่านก็ตามเสด็จมาอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันตั้งแต่อายุ 13 – 14 ปี พอมีโอกาสได้มาเห็นหัวหิน ท่านก็ชอบมาก พอท่านเริ่มออกมาทำบริษัทเรือข้ามฟาก (บริษัท สุภัทรา จำกัด) ท่านจึงค่อย ๆ เริ่มซื้อที่ดินเก็บไว้ พอมีลูกคุณแม่ก็จะพามาหัวหินทุกปี ช่วงฤดูร้อน ปีละ 2 เดือน ตั้งแต่อายุ 1 ขวบครึ่ง จนถึงอายุ 12 ปี ท่านก็จะไป ๆ มา ๆ ส่วนเราก็อยู่กับพี่เลี้ยง ช่วงนั้นการเดินทางด้วยรถยนต์ลำบากมาก เราก็จะนั่งรถไฟมา ออกจากสถานีบางกอกน้อยตั้งแต่ 6 โมงเช้า มาถึงที่นี่ประมาณเที่ยง ๆ บนรถไฟก็จะมีไก่ ไข่ต้ม ข้าวผัดรถไฟ ทุกครั้งที่จอดก็จะมีเด็กขึ้นมาขายของ แล้วก็กินกันมาตลอดทางจนมาถึงหัวหิน ทุก ๆ ปีก็จะรอคอยการได้ขึ้นรถไฟ จำได้ว่าสนุกมาก
เรานั่งรถไฟไปที่บ้าน สมัยนั้นบ้านพุทธรักษาเป็นเพียงบังกะโลไม้ 2 ชั้นเล็ก ๆ ต่อมาคุณแม่ก็เริ่มสร้างบังกะโลอีก 3 – 4 หลังเพื่อให้คนเช่า คนก็จะรู้จักพุทธรักษาว่าเป็นบ้านให้เช่า แต่มันก็เริ่มเสื่อมโทรม คุณแม่ก็ไม่อยากต้องมาซ่อมบ่อย ๆ ท่านฝันว่าอยากจะให้เป็นโรงแรม แต่พอท่านเสียเราก็ยกทุกอย่างให้ลูกหมด เพราะอยากเป็นศิลปิน ไม่อยากบริหารกิจการ คุณแม่ก็บอกให้ดิฉันเป็นศิลปินไป ส่วนธุรกิจเรือข้ามฟากก็จะเป็นพี่สาวดูแลแทน
พอมาถึงหัวหิน คุณแม่ก็จะพาไปดูทุกที่เลย เมื่อก่อนตรงนี้เป็นกระบองเพชรแล้วก็ทราย ไม่มีน้ำ ตอนเด็ก ๆ เราก็ต้องเข็นรถพร้อมกับปี๊บอีก 6 ใบ เพื่อไปซื้อน้ำมาอาบทุกวัน ส่วนน้ำดื่ม รอบบ้านจะมีตุ่มใหญ่ ๆ เวลาฝนตกเราก็จะวิ่งไปเปิดฝารองน้ำฝนเก็บไว้ น้ำที่ดื่มและทำกับข้าวก็จะเป็นน้ำฝน ส่วนน้ำอาบจะเป็นน้ำที่เราไปซื้อปี๊บละ 1 สลึง
ช่วงนั้นตลาดฉัตรไชยจะมีคุณหญิง คุณนาย ไฮโซ แต่งตัวมาประชันกันเต็มที่ กางเกงเขียว เสื้อดอก หมวกเขียว รองเท้าเขียว คือมาแบบสวยเลย ขับรถเปิดประทุนมาทุกเช้า เพื่อกินโจ๊กกับปาท่องโก๋ตรงหน้าตลาด พวกเราเด็ก ๆ ก็จะขี่จักรยานไปซื้อปาท่องโก๋มานั่งกินแล้วก็ดูและศึกษาแฟชั่นจากไฮโซตรงนั้น แล้วก็เข้าไปจ่ายตลาด จำได้ว่าทุกอย่างจะห่อด้วยใบสัก เพราะหัวหินไม่มีใบตอง ไม่ว่าจะขนมขี้หนู ไปจนถึงปลาตัวใหญ่ก็จะห่อด้วยใบสักทั้งหมดเลย จนพอเราอายุ 12 ปี ไปเรียนต่อเมืองนอก กลับมาก็จะอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้มาหัวหินแล้ว
ก้าวแรกสู่วงการ และเส้นทางสู่ศิลปินแห่งชาติ
พอจบจากอังกฤษ ก็ย้ายไปเรียนบริหารธุรกิจที่สหรัฐอเมริกา เรียนได้สักครึ่งปี พบว่าเราอยากอยู่ในคลาสกิจกรรมมากกว่า แต่ยังไม่กล้าบอกแม่ว่าอยากไปเรียนการละคร พอกลับมาอยู่บ้าน ประกอบกับที่แม่มีเรือหลายลำ เราจึงทำเป็น Lex’s Show Boat เรือสำราญล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลำแรกของประเทศไทย ช่วงนั้นจบม.6 มายังไม่ได้เรียนต่อ แต่คุณแม่ก็คิดว่าควรมีอะไรติดตัวไว้เป็นอาชีพ คุณพ่อจึงพาไปเจออาจารย์สดใส ท่านก็แนะนำว่าถ้าชอบทางนี้จะต้องไปเรียนที่ไหน จากนั้นเราก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา กลางวันไปโรงเรียนการแสดง ส่วนกลางคืนไปเรียนวิชานางแบบ วิชาออกแบบเสื้อ
หลังเรียนจบอายุประมาณ 21 ปีก็กลับบ้าน เราก็ไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปอยู่ในวงการ งานแรกที่ได้คือเดินแบบให้กับร้านระพี ซึ่งในสมัยนั้นเป็นกูตูร์ที่ดังมาก ทั้งยังได้ไปร่วมงาน Expo ที่ประเทศญี่ปุ่น เดินแบบร่วมกับนางงามในสมัยนั้นด้วย
เดินแบบอยู่สักพัก เรารู้สึกว่าน่าจะต้องมีอาชีพอะไรเป็นเรื่องเป็นราว จึงไปเปิดร้านเสื้อผ้า Ready made ที่สยามสแควร์ ซึ่งสมัยนั้นร้านเสื้อแบบสำเร็จรูปมีเพียงแค่ 3 ร้านทั่วประเทศ แต่ของเราจะเป็นแบบวัยรุ่นหน่อย ออกแบบเอง ตัดเย็บเอง ใส่เอง คนก็ชอบ ขายดีมาก ดาราก็มาซื้อ หนึ่งในนั้นมีคุณลาวัณย์ฉวี สิริสิงห์ ผู้จัดละครโทรทัศน์ เป็นผู้ชักชวนให้ไปเล่นละคร สมัยนั้นจะเป็นละครสด 2 ชั่วโมง จนมาเรื่องสุดท้ายเล่นเป็นพี่สาวนางเอก พอเล่นเสร็จก็มีคนโทรศัพท์เข้ามาที่ช่อง 7 ถามว่าเราเป็นใคร ชื่ออะไร วันถัดมาคุณปริญญา ลีละศร ผู้กำกับหนัง ก็มาพร้อมกับบทละครเรื่อง “ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ” ซึ่งในสมัยนั้นการถ่ายทำหนังจะถ่ายไปเขียนไป มีคนบอกบท แต่คุณปริญญามีบทเสร็จมาเป็นเล่มเลย มีเพลงซึ่งเพราะมาก เราได้ทำการบ้าน ทั้งยังมีคุณสุพรรณ บูรณะพิมพ์ กับคุณกำธร สุวรรณปิยะศิริ ซึ่ง 2 คนนี้เป็นไอดอลที่เราชอบมากตั้งแต่เด็ก ๆ จึงตกลงรับเล่น เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก แล้วก็ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง
หลังจากได้รับรางวัลก็เล่นหนังอีกประมาณ 10 กว่าเรื่อง แล้วก็ย้ายไปเป็นผู้จัดให้ช่อง 3 เราก็ดูโรงเรียนสุภัทราให้คุณแม่ที่กรุงเทพฯ ด้วย เป็นโรงเรียนที่คุณแม่เปิดให้ เพราะเด็ก ๆ ท่านเห็นเราชอบวาดโรงเรียน แต่พอกลับมาเราไม่อยากทำ คุณแม่ก็เลยเก็บไว้เหลือแต่ตึกอนุบาล เราก็เอาตึกมัธยมมาสร้าง “ภัทราวดีเธียเตอร์” โรงละครและสถาบันสอนศิลปะการแสดง แต่ก็ยังมีไปทำวาไรตี้โชว์ให้ช่อง 9 คือ “ธรรมดาที่ไม่ธรรมดากับภัทราวดี” เป็นรายการแรกของประเทศเลย ทำทีวีอยู่พักใหญ่แล้วก็ไม่สบาย เพราะเราทำงานติดกันไม่ได้หยุดพัก ไม่ได้ดูหนัง ไม่ได้ดูละคร คิดอะไรไม่ออกก็เริ่มเครียด แล้วก็ป่วยอยู่ปีหนึ่ง
ต่อมาแต่งงานกับท่านทูตแคนาดา แล้วก็ย้ายไปอเมริกา ได้เจอคนดี ๆ ได้ดู Opera และละครเยอะมาก พอดูแล้วมันเกิดไฟ เขาก็ยุยงให้มาทำ “คืนหนึ่งกับภัทราวดี (An evening with Patravadi)” เป็นคอนเสิร์ตจากเมืองนอกเอามาเล่นที่ประเทศไทย ตอนหลังท่านทูตย้ายมาอยู่สิงคโปร์ เราก็จะกลับมาไทยวันจันทร์ – พฤหัสบดี เพื่อมาทำงาน เสร็จแล้วก็กลับสิงคโปร์เพื่อไปอยู่กับครอบครัว ช่วงนั้นก็อายุประมาณ 30 ปี
ช่วงที่เปิดภัทราวดีเธียเตอร์ ประมาณปี พ.ศ. 2535 การละครรุ่งเรืองมาก มีเด็กใหม่ ๆ หลายคนเติบโตจากโรงละคร เราก็ดีใจที่ได้สร้างเด็ก จนวันหนึ่งเกิดน้ำท่วม ทุกอย่างพัง เสียหายเยอะมาก ช่วงนั้นก็เริ่มมาที่หัวหินแล้ว เนื่องจากมีคณะลิเกอยากเช่าที่เพื่อทำโรงลิเก เราก็มองว่าพื้นที่ตรงนี้มันน่าอยู่ จึงตัดสินใจสร้างบ้านดีกว่า แล้วก็สร้างเป็นโรงละครจะให้คณะลิเกเล่น ย้ายของที่ยังเหลือมาไว้ที่นี่ พอหมดภาระจากที่นู่นก็มาทำโรงลิเกต่อให้เสร็จ แต่พอสร้างเสร็จเขาก็บอกว่ามันสวยไป เราก็เลยทำเป็นโรงละครวิกหัวหินแทน แต่แล้วใครจะมาดู ใครจะมาเล่น ถ้าทำเป็นโรงเรียนสอนการแสดง แล้วใครจะมาเรียน เพราะฉะนั้นก็เปิดเป็นโรงเรียนสามัญเลยดีกว่า แต่เป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยมศึกษา
ภาพฝันในวันที่ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดีและวิกหัวหิน
นิยามพื้นที่นี้ไว้ว่ายังไง
เราก็รู้สึกว่าโรงเรียนมันน่าจะเป็นอะไรอย่างที่ฉันฝัน คือเอาบางสิ่งที่ดี ๆ จากอังกฤษ มาผสมกับบางสิ่งที่ดี ๆ จากโรงเรียนราชินี แล้วก็ผสมกับไอเดียของตัวเองว่าตอนที่เราเป็นเด็กเรารู้สึกยังไง ทำไมเด็กกิจกรรม เด็กที่เล่นกีฬา เด็กที่เล่นละครถึงไม่ค่อยได้อะไรเลย เช่น เรื่องชักธงชาติ ส่วนมากจะมีแต่เด็กที่เรียนเก่ง เพราะฉะนั้นเด็กที่นี่ทุกคนจะได้ชักธงชาติ และร้องนำ เวียนกันไป เธอจะใช่นักร้องหรือไม่ใช่ เธอร้องเลย แล้วคนอื่นก็จะร้องตาม มันก็จะก่อเป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ที่ดีให้แก่เด็ก ๆ ส่วนโรงละครก็จะเป็นสถานที่ฝึกซ้อมสำหรับเด็ก ๆ ที่นี่จะไม่มีเด็กที่ไม่ฉลาด จะมีแต่เด็กที่เก่งทางด้านไหนมากกว่า
ศิลปะมาผนวกกับการศึกษาภาคสามัญได้ยังไง
แนวทางที่ครูเล็กยึดมั่นในการสอนเด็ก ๆ คือแบบไหน
เราจะดูว่าเด็กเก่งทางไหน ถนัดอะไร แล้วก็จะผลักดันไปทางนั้น ทำให้พ่อแม่สนับสนุนเขาให้ได้ ช่วงที่ไปเป็นอาสาสมัครให้โครงการหลวงที่ดอยตุง เราเอาศิลปะไปผนวกกับเลข กับภาษาอังกฤษ แล้วได้ผลดี จึงคิดว่ามันน่าจะเข้าไปในการศึกษาได้ สอนเด็กให้มีทักษะในเรื่องของศิลปศาสตร์ ผนวกกับวิชาสามัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ติดตัวไว้ เด็ก ๆ ต้องอ่านออกเขียนได้ การเล่นละครก็เพื่อให้เขามีทักษะของความกล้าแสดงออก ปรับบุคลิกภาพ พูดจาฉะฉาน สอนการทำงานร่วมกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน เริ่มทำงานพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน การเอาศิลปะมาผนวกก็เหมือนการออกอุบายให้เด็กได้เรียนอะไรที่ไม่ชอบ เช่น พอเราเอามาทำเป็นละคร เด็กก็จะได้เรียนโดยที่ไม่ต้องบังคับ สอนในเรื่องตาดูหูฟัง เวลาไปทำอะไรก็จะง่าย สอนได้ทั้งวินัย ทั้งความรับผิดชอบ มันจะซึมลึกเข้าไปเอง ต้องรับส่งบทให้ดี เพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะนักแสดงฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายแสง นักดนตรี ไปจนถึงส่งความสุขให้คนดูให้ได้มากที่สุด
ความสนุกของชีวิตช่วงนี้คืออะไร กิจกรรมไหนที่ชวนให้รีบตื่นนอน
ช่วงนี้ก็เป็นตารางสอน รีบตื่นมาสอนเด็ก ๆ อยากสอนเอง เพราะมันเห็นผล และยังได้เห็นปัญหาของเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะมาก บางทีก็มีโอกาสได้พูดคุยกันตอนเลิกเรียน ได้รับรู้ปัญหาจริง ๆ ก็สอนทุกวันเลยค่ะ
กิจกรรมของโรงเรียนภัทราวดี และ วิกหัวหินมีอะไรบ้าง
สิ่งที่เราเคยทำไว้คือ Theatre Season เมื่อก่อนครูทำทุกปี ทุกวันเสาร์ แล้วก็ได้ผลดี มีคนมาดู จนกระทั่งโควิดที่เราหยุดไป แต่ก่อนจะมีนักแสดงจากต่างประเทศมาเล่นด้วย ปีนี้เราเลือกนักแสดงกลุ่มที่เจ๋ง ๆ ที่เล่นมาแล้วรอบโลก จากประเทศไทย 4 เรื่อง รวมถึงเรื่องที่เราทำ คือ มัทนะพาธา รวมทั้งหมดเป็น 5 เรื่อง นำมาเล่นให้เด็ก ๆ ดู และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วการดูละครมันสำคัญมาก มันจะมีบางอย่างที่หนังทำไม่ได้ เช่น การ improvise ของนักแสดง
อย่างเรื่อง “You Decide” ของพิเชษฐ เขาเก่งมาก เป็นนักแสดงที่จะเล่นตามที่คนดูบอก ทั้งสนุกและตลก ดูจบเราจะได้ไอเดียไม่เหมือนกันสักรอบ หรือของวันแรก “ART” เป็นงานแปลของฝรั่งแล้วเอามาปรับเป็นไทย ซึ่งนักแสดงนำทั้ง 3 ท่านเป็นครูสอนการแสดงที่เล่นไปทั่วประเทศแล้วค่ะ สนุกมาก สอนเรื่องศิลปะเป็นสิ่งไม่ตายตัว แต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน
เรื่องที่ 3 ของครูเอ็ม เป็นละครชาตรี นำท่ามโนราห์ของอาจารย์ธรรมนิตย์มาใส่ เอาขนบทั้งหมดของละครชาตรีมาใช้ จะเห็นได้เลยว่า musical ของไทยมันเจ๋งมาก ร้องเอง รำเอง สวย สนุก ทั้งยังได้เห็นขนบอะไรที่เจ๋งมาก
การแสดงทั้ง 5 สัปดาห์เราก็เลือกมาจากการที่ได้ไปดูแล้วชอบ มันเจ๋งและสร้างสรรค์มาก “มัทนะพาธา” เราก็ไปเล่นที่วังมาแล้ว เป็นการอ่านบทกวี (Poetry Reading) ซึ่งเพลงเพราะมาก เป็นเพลงที่อาจารย์อนันต์นำดนตรีไทยมา แล้วเด็กของเราร้องประสานเสียง
ดูตารางการแสดงทั้งหมดได้จากเพจ Vic HuaHin
นิยามชีวิตของครูเล็กในตอนนี้ เป็นยังไง
จริง ๆ ต้องบอกก่อนว่าการทำงานกับเด็กทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่การทำโรงเรียนแล้ว เราจะแก้ปัญหาของสังคมและบ้านเมืองได้ยังไง เช่น ภาษาไทยเริ่มหายไป เด็กเขียนไม่ได้ พูดไม่เพราะ ใช้คำไม่เป็น ด้อยค่ากันเอง แต่เราจะทำแค่โรงเรียนไทยอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะเด็กยังต้องได้ภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นเราจึงดีไซน์ให้ระดับชั้นประถมศึกษาเรียนเป็นไทยและอังกฤษแบบครึ่ง ๆ เลย ดนตรีไทย ร้องเพลงไทย วรรณคดี ประวัติศาสตร์ไทย ส่วนวิชาทั่วไป อย่างสังคม ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พลศึกษา ก็จะเป็นครูฝรั่งหมดเลย
ครูพยายามผลิตเด็กไทยที่ไหว้กราบสวยงาม ยังคงความเป็นไทย แต่ผสมในเรื่องการคิด การใช้ภาษาให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงมีการพัฒนาหลักสูตรในหลาย ๆ วิชา เช่น วิชาวรรณคดีไทย ก็พัฒนาให้เป็นเรื่องวรรณคดีกับจิตวิทยา มุ่งไปที่การวิเคราะห์คาแรคเตอร์มนุษย์ โดยใช้วรรณคดีมาเล่านำทาง สอดแทรกเรื่องจิตวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ เอาไว้ เธอจะเก่งหรือไม่เก่งมันไม่สำคัญ แต่โคลงกลอนต้องอ่านได้ เข้าใจ รู้จังหวะ
สิ่งที่ครูเล็กตั้งเป้าหมายอยากทำให้สำเร็จ
ครูก็ยังไม่ลดละการสอน เพราะถ้าเราไม่เข้าไปสอนเองก็จะไม่รู้ปัญหา ไม่รู้จักเด็ก ไม่ได้ดูเรื่องสภาพจิตใจของเขา ครูไปเรียน Art Therapy ที่มหาวิทยาลัยจุฬาฯ แต่ละคนก็จะมีลักษณะไม่เหมือนกัน บางคนเราจะไปทรีทเขาเหมือนเด็กปกติไม่ได้ จะทำยังไงให้เขาอยู่ได้กับความปกติของโลก จะทำยังไงให้เด็กทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ทำยังไงให้เขายอมรับซึ่งกันและกัน และต้องเข้าใจในพฤติกรรมที่แตกต่างให้ได้
สรุปส่งท้าย อยากฝากอะไรถึงเยาวชนคนรุ่นหลัง วัยรุ่นยุคปัจจุบัน และลูกศิษย์
อยากให้ทุกคนมองว่าตัวเราไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น หาให้เจอว่าเรามีอะไรดี เด็ก ๆ ชอบเล่นอะไร ชอบเล่นกีฬา ชอบวาดรูป ชอบเล่นขายของ ชอบอะไรก็ลองทำเลย ถ้าทำแล้วพลาด ทำแล้วไม่ดีก็ไม่เป็นไร ล้มลุกคลุกคลาน เราก็เริ่มทางอื่นได้ แต่อย่าไปนั่งเฉย ๆ แล้วฝัน Do something ค้นหาทุกวัน สมัยครูเด็ก ๆ ครูชอบไปดูลิเก ก็อยากเป็นนางเอกลิเก ไปดูละครกรมศิลป์ ก็อยากรำแบบกรมศิลป์ คือเราฝันแล้วก็มาเล่น มาทำ วันหนึ่งพอไปเจอสิ่งที่ชอบมันจะทำได้ดี ถ้าอยากรู้อะไรก็เรียน อยากให้ทุกคน Follow your dream ถึงความฝันเปลี่ยนก็ไม่เป็นไร ลองใหม่ พอโตขึ้นมันจะชำนาญและหาทางได้เอง
ถ้าใครทำงานแล้วก็อยากให้ผ่อนคลาย ดูหนัง ดูละคร ดูอะไรที่ไม่เคยดู เรียนอะไรที่ไม่เคยเรียน มันจะได้ความคิดใหม่ ๆ พอมาผสมกับงานของเราที่อาจซ้ำซากจำเจ ก็จะทำให้ไฟแรงขึ้น
ส่วนลูกศิษย์ทุกคนครูก็เฝ้ามองเขาอยู่นะ ถ้าครูรู้ว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน ครูก็เฝ้ามอง คอยติดตามดูใน Facebook บ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าทำอะไรอยู่ก็จะได้สบายใจ ไม่มีอะไรเป็นห่วง ถ้ามีอะไรน่าห่วงครูก็จะฝาก ๆ หรือไปพูดคุย ถ้าครูทำอะไรให้ได้ก็ยินดี หากใครเปิดธุรกิจอะไรครูก็จะไปอุดหนุน ครูก็ยังคอยเฝ้าดูอยู่
ข้อมูลติดต่อ
🏤 โรงเรียนภัทราวดี / วิกหัวหิน
📞 081 813 9631, 081 985 6954
▶ Facebook
🌐 patravadischool.com
🗺 Google Maps