People ใจจริงจัง

รู้ลึกเรื่องรถไฟหัวหิน สัมภาษณ์คุณเก้า เจ้าของเพจ ที่นี่สถานีหัวหิน

วันนี้ทีมงานหัวหินทาวน์ขอพาทุกท่านมาเจาะลึกเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟหัวหิน ประวัติ ความเป็นมา บทบาทของรถบนรางที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และกำลังพัฒนาต่อยอดสู่อนาคต วันนี้เราได้แขกรับเชิญพิเศษ คุณเก้า จากเพจ ที่นี่สถานีหัวหิน ผู้หลงใหลในรถเหล็กบนล้อราง และมีข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับสถานีมาแชร์ให้เราฟัง เรื่องนี้จะน่าสนใจขนาดไหน เชิญไปชมบทสัมภาษณ์พร้อมกันเลยค่ะ


แนะนำตัวคุณเก้า

ชื่อ นันทวิช โสณายะ (เก้า) ปัจจุบันทำร้านกาแฟเป็นงานหลัก ใช้เวลาที่เสร็จจากงานประจำมาทำเพจที่นี่สถานีหัวหิน นอกจากนี้ยังเป็น content creator และ youtuber ทำคลิปลง YouTube  ใช้ชื่อช่องว่า ที่นี่สถานีหัวหิน เช่นกัน ซึ่งจะทำคลิปลง YouTube เป็นหลักมากกว่า เพจจะรองลงมา โดยจะพยายามลงคอนเทนต์อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เน้นเก็บบรรยากาศทั่วไป ทำเป็น Timeline ถ่ายบรรยากาศรอบ ๆ ของสถานีรถไฟหัวหิน


แนะนำเพจ “ที่นี่สถานีหัวหิน”

เพจ ที่นี่สถานีหัวหิน Hua Hin Train Spotters ทำขึ้นเพราะเกิดความสงสัยว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จะเปลี่ยนแปลงสถานีหัวหินยังไง หลังจากทราบว่าสถานีหัวหินจะไม่ใช้สถานีเดิม แต่จะทำเป็นสถานียกระดับ มีตัวอาคารยกระดับสูงขึ้นจากพื้นดิน

จึงเกิดความสงสัยว่าภาพบรรยากาศเดิม ๆ ของสถานีหัวหินจะหายไปไหม เลยเริ่มเก็บบรรยากาศ ตัดสินใจทำช่อง youtube ที่นี่สถานีหัวหินตั้งแต่นั้นมา


ประวัติศาสตร์ และจุดเริ่มต้นของสถานีรถไฟหัวหิน

สถานีหัวหิน เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับสถานีชะอำ โดยวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 คือวันที่เปิดการเดินรถไฟสายใต้จากสถานีบ้านชะอำ มาสถานีหัวหิน จึงได้ยึดเอาวันนี้เป็นวันครบรอบของสถานีรถไฟหัวหิน ซึ่งในปีนี้สถานีหัวหินจะเปิดการเดินรถครบ 111 ปี ส่วนตัวอาคารปัจจุบันที่เป็นอาคารวิคทอเรีย สีครีม-แดง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 จะครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2569

หัวรถจักรไอน้ำ ตั้งอยู่บริเวณรางตันด้านทิศเหนือของสถานีหัวหิน ติดกับถนนพระปกเกล้า

เมื่อโครงการรถไฟทางคู่และการปรับภูมิทัศน์ของสถานีรถไฟหัวหินปัจจุบันเสร็จสิ้น จะนำมาตั้งไว้ที่บริเวณฝั่งตรงข้ามอาคารสถานีหัวหิน (สถานีปัจจุบัน) ใกล้กับจุดจอดเดิม


ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ ที่นี่สถานีหัวหิน Hua Hin Train Spotters ค่ะ

แรกเริ่มก่อนที่จะมีการสร้างสถานีจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ก่อน โดยแผนการพัฒนารถไฟเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการขยายการคมนาคมไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเสร็จสิ้นช่วงรัชกาลที่ 6 นายช่างชาวอังกฤษและทีมสำรวจ ได้เริ่มการสำรวจพื้นที่จนมาพบชายหาดหัวหินที่มีสภาพพื้นที่สวยงาม เหมาะแก่การเป็นบ้านพักตากอากาศ จึงไปทูลฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น ว่ามีพื้นที่ตรงนี้อยู่ ราชวงศ์ชั้นสูง เจ้านาย เลยเริ่มมาจับจองพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น

เป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตของเมืองหัวหิน ซึ่งการมาของเส้นทางรถไฟเป็นเหมือนการเปิดเมืองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น


รถไฟมีบทบาทกับการพัฒนาเมืองหัวหินยังไงบ้าง

รถไฟค่อนข้างที่จะส่งผลกับเมืองมาก มีตั้งแต่นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ และคนในพื้นที่

ในเวลาปกติผู้ที่มาใช้บริการส่วนมากจะเป็นคนในพื้นที่ที่ทำงานตั้งแต่ช่วงประจวบฯ หัวหิน เพชรบุรี ราชบุรี ใช้รถไฟเป็นพาหนะประจำวัน ไปเช้า-เย็นกลับ

รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ที่เดินทางเอาของไปขาย เช่น เดินทางด้วยรถไฟขบวน 252 ไปทำงานตอนเช้า และเดินทางด้วยขบวน 251 กลับตอนเย็น

ส่วนนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพ มักจะใช้บริการมากในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ เนื่องจากค่าตั๋วถูก สามารถเดินทางจากกรุงเทพมาหัวหินได้ในราคาเพียงแค่ 40 กว่าบาท เช่น กลุ่มวัยรุ่นมักจะเดินทางด้วยขบวนรถไฟ 261, 262 ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ 


สถานีรถไฟหัวหินในปัจจุบัน มีความสำคัญกับเมืองแค่ไหน

ในแง่ของเศรษฐกิจสถานีรถไฟหัวหินมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางหลัก และเป็นสถานีที่ขบวนรถโดยสารจอดทุกขบวน ในแง่ของการทำงานเจ้าหน้าที่จะมีการผลัดเปลี่ยนเวรการขับรถกันที่สถานีหัวหิน


แผนงานก่อสร้างสถานีใหม่ ปัจจุบันดำเนินการถึงไหนแล้ว

 

ตอนนี้โครงสร้างหลัก ๆ ใกล้เสร็จแล้ว มีการวางรางรถไฟแล้ว แต่โครงสร้างอื่น ๆ ยังไม่เรียบร้อยดี ต้องมีการปรับภูมิทัศน์รอบ ๆ สถานี ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ความจริงกำหนดการสร้างเสร็จคือช่วงกลางปี 66 แต่ด้วยปัญหาเรื่องคนงาน ทำให้แผนล่าช้าไปเกือบปี  


ขอขอบคุณรูปภาพ Prospective จาก MAA Consultants Co., Ltd. ค่ะ

ตัวสถานีใหม่จะได้เรื่องของโครงสร้าง มีขนาดใหญ่ขึ้น ด้านบนเป็นรถไฟทางคู่ แต่ไม่ได้รองรับรถไฟความเร็วสูง เพราะขนาดรางต่างกันใช้ด้วยกันไม่ได้ เป็นรถไฟปกติ แค่ยกระดับสูงขึ้น ตรงเวลามากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง เช่น เข้ากรุงเทพอาจจะเหลือแค่ 4 ชั่วโมง 30 นาที หรืออาจเหลือแค่ 2 ชั่วโมง 30 นาที ถ้าได้รถไฟใหม่ที่ทำให้วิ่งได้เร็วขึ้น


สถานีใหม่หัวหิน จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ/สังคม ของหัวหินยังไง

การยกรางตัวสถานีขึ้นชั้น2 ถือว่าช่วยเรื่องการจราจรภายในเมืองได้อย่างมาก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

เช่น ลดปัญหารถติดแถวอ่างน้ำ แม่เก็บ บ่อนไก่  เนื่องจากความถี่ของรอบในการวิ่งระดับพื้นดินจะน้อยมาก จะมีแต่รถขนสินค้า รถโดยสารจะวิ่งขึ้นข้างบนทั้งหมด

คาดการณ์ว่า ชั้น 1 เป็นที่รองรับผู้โดยสาร ห้องจำหน่ายตั๋วประจำวัน ห้องรับฝากพัสดุ ห้องน้ำ โถงสำหรับรับรองผู้โดยสาร ชั้น 2 เป็นสถานีปิดสำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางเท่านั้น

สถานีรถไฟเดิมอาจจะคงไว้ เก็บไว้เป็นอาคารอนุรักษ์ เหมือนที่เพชรบุรี หัวลำโพง หรือทำเป็นพื้นที่สำหรับจัดงาน แต่ต้องเข้าไปปรับปรุงฟื้นฟูอนุรักษ์อาคารสถานีเดิมและตัวพลับพลาก่อน เนื่องจากตัวอาคารไม้มีการผุผังค่อนข้างเยอะ ตัวพลับพลาจะตั้งอยู่ที่เดิม 

สะพานข้ามรางรถไฟสร้างเสร็จเกือบทั้งหมดแล้ว ตอนนี้ที่เปิดใช้งานมีตรงห้วยสายใต้ หัวหินทันสมัย แต่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการใช้เส้นทาง ไฟน้อย มีปัญหาเรื่องฝุ่น เรื่องรถบรรทุกวิ่งเข้าออก การออกแบบส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนพื้นที่ค่อนข้างมาก


บทส่งท้าย

ให้คุณเก้าแชร์มุมมองถึงสิ่งที่อยากให้เกิดกับหัวหิน เพื่อให้หัวหินพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม

เรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีขนส่งสาธารณะรองรับ ทำให้การเดินทางง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีการรับ – ส่งพื้นฐานตามจุดต่าง ๆ ปัญหาตอนนี้คือไม่มีรถให้บริการ นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปไหนต้องเหมารถ เช่ารถ หรือเรียก grab รวมถึงควรทำทางเท้าที่เดินได้สะดวก มีไฟส่องสว่าง และปลอดภัย


และนี่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถไฟหัวหิน ที่เราได้มีโอกาสทราบมาจากคุณเก้า หวังว่าเราจะได้มีโอกาสใช้สถานีใหม่หัวหินเร็วๆนี้นะคะ แล้วพบกันที่หัวหินนะคะทุกคน 🙂

Avatar photo
มายด์ บรรณาธิการ HuaHin Town Life ชอบนอนดึก ติดซีรีย์เกาหลี เป็นอาร์มี่ ฟัง K-POP เป็นคนละเอียดและชอบทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆรอบตัว มายด์จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของหัวหินในต่างมุมมองให้ได้ชมกันนะคะ รอติดตามกันน้า